โรงเรียนบ้านหัวอ่าว(ก๊วยสมบุญราษฎร์)
หมู่ที่ 5 ถนนพิทักษ์ชัยวิชยานันท์ บ้านหัวอ่าว  ตำบลบางช้าง  อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73110
เบอร์โทรศัพท์ 034324790
ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
          โรงเรียนบ้านหัวอ่าว(ก๊วยสมบุญราษฎร์บำรุง)ได้จัดตั้งขึ้นชั่วคราว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ แบบ เรือนทรงปั้นหยา หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ลอนเล็ก มีขนาดกว้าง ๘.๐๐ เมตร ยาว ๑๘.๐๐ เมตรมี คณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างคือ นายเสรี จรดล,นายเยี่ยม เลี้ยงรักษา,นายเจือน ชื่นเจริญ,นายบุญเพ็ญ จรดล,นายเชื้อ ชื่นเจริญ ได้เจรจาขอที่ดินนางบาง แสงพิทักษ์,นางบุญช่วย แสงพิทักษ์ เป็นจำนวน ๓ ไร่ ๘๐ ตารางวา เมื่อได้ที่ดินแล้วจึงดำเนินการปลูกสร้างและมีบุคคลในท้องถิ่นได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งชาวบ้าน อีกทั้งหลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอมเป็นผู้อุปการะโรงเรียน โดยการหล่อรูปเหรียญของท่าน เป็นแบบทองแดงและเงิน ให้ประชาชนเช่าไปได้เงินมาจัดสร้าง สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นสองพันบาทถ้วน) เปิดเรียนครั้งแรก เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปี ที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ มีนักเรียนชาย ๒๖ คน หญิง ๒๕ คน รวม ๕๑ คน มีครู ๓ คน คือ นายพิณ ชื่นเจริญ เป็นครูใหญ่
          การจัดสร้างครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๒ เนื่องจากอาคารเดิมสร้างไว้ชั่วคราว เด็กมีจำนวนเพิ่ม มากขึ้น สถานที่เรียนไม่เพียงพอคณะกรรมการโรงเรียนจึงได้ประชุมปรึกษาหารือกันที่จะจัดสร้างอาคาร เรียนขึ้นใหม่ ได้รับเงินบริจาคประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท(สามหมื่นบาทถ้วน) หาเพิ่มอีกประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท รวมเป็น ๗๐,๐๐๐ บาท(เจ็ดหมื่นบาทถ้วน) โดยสร้างเป็นแบบวัดสัมปทวน ตัดต่อขนาด ๔ ห้องเรียน หลังคามุงกระเบื้อง เครื่องบนไม้เต็ง เสาบนไม้เต็งต่อเสาตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ประตู หน้าต่างไม้สัก พื้นไม้ยาง สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ขึ้นเรียนวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เปิดป้ายนามอาคารเรียนชื่อว่า โรงเรียนบ้านหัวอ่าว(ก๊วยสมบุญราษฎร์บำรุง) เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ มีนักเรียนทั้งสิ้น ๑๒๙ คน ครู ๓ คน นายพิณ ชื่นเจริญ เป็นครูใหญ่ นายจำรัส ชื่นเจริญ และนายทองคำ เลี้ยงรักษา
          การจัดสร้างอาคารเรียนครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยการรื้อถอนอาคารเรียนหลังเก่า ไป ปลูกสร้างใหม่ทางทิศตะวันออก โดยใช้ของเก่าบ้างเป็นบางส่วนสมทบกับของที่ซื้อใหม่ ปลูกสร้างใหม่แบบ ป.๑ ขนาด ๒ ห้องเรียน กว้าง ๙.๐๐ เมตร ยาว ๑๘.๐๐ เมตร สิ้นค่าปลูกสร้างประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ทางราชการให้ ๒๐,๐๐๐ บาท(สองหมื่นบาทถ้วน) หาสมทบ ๓๐,๐๐๐ บาท(สามหมื่น บาทถ้วน) ผู้ใหญ่ประจักษ์ เต่าบำรุง ได้บริจาคเงินทำฝ้าเพดานทั้งหลังทำด้วยกระเบื้องแผ่นเรียบ สิ้นเงิน ประมาณ ๖,๐๐๐ บาท(หกพันบาทถ้วน)
          การจัดสร้างอาคารเรียนครั้งที่ ๔ ต่อเติมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ต่อเติมอีก ๑ ๑/๓ ห้องเรียน เพื่อให้ติดต่อกันทั้งหมด ได้เงินงบประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท(สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) หาจากประชาชน ๒๕,๐๐๐ บาท(สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) รวมค่าก่อสร้าง ๕๐,๐๐๐ บาท(ห้าหมื่นบาทถ้วน)
          การจัดสร้างอาคารเรียนครั้งที่ ๕ ต่อเติมฝ้าเพดานทั้งหลัง ๕ ห้องเรียน ช่องลม ๑๘ ช่อง ได้เงินงบประมาณ ๑๓,๐๐๐ บาท หาจากประชาชน ๗,๐๐๐ บาท รวม ๒๐,๐๐๐ บาท(สองหมื่นบาทถ้วน) กรรมการจัดสร้างและหาเงินสมทบ รวมการจัดสร้างอาคารเรียนและต่อเติมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๐๒,๐๐๐ บาท(สองแสนสองพันบาทถ้วน)
          ปีการศึกษา ๒๕๑๕ เปิดชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ มีนักเรียน ๒๓ คน ปีการศึกษา ๒๕๑๖ เปิดประถมปีที่ ๖ ตั้งแต่ชั้นประถมต้นและชั้นประถมปลาย มีห้องเรียน ๖ ห้องเรียน ครู ๘ คน นักเรียน ๒๕๖ คน
          การจัดสร้างอาคารเรียนครั้งที่ ๖ แบบ๐๑๗ จำนวน ๔ ห้องเรียนปีการศึกษา ๒๕๑๗ เปิด ประถมปีที่๗ ในการสร้างครั้งนี้ โรงเรียนต้องจัดซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างอีก ๑ ไร่ ๓๐ ตารางวา เป็นเงิน ๔๗,๐๐๐ บาท(สี่หมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) หาสมทบปลูกสร้างอาคารเรียนแบบ ๐๑๗ อีก ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ราชการสมทบงบประมาณจัดสร้างเป็นเงิน ๒๔๐,๐๐๐ บาท (สองแสนสี่หมื่นบาท ถ้วน) และผู้บริจาครายย่อยอีก ๓๑,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินค่าซื้อที่ดินและปลูกสร้างอาคารเรียนแบบ ๐๑๗ เป็นเงิน ๓๐๗,๐๐๐ บาท(สามแสนเจ็ดพันบาทถ้วน) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๗ ให้ นามอาคารเรียนว่า “ปลั่งบุญมาราษฎร์บำรุง”
          การจัดสร้างอาคารเรียนครั้งที่๗ ต่อเติมอาคารเรียนชั้นล่างแบบ ๐๑๗ จำนวน๔ห้องเรียน ทางราชการจัดสรรงบประมาณให้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท(หนึ่งแสนบาทถ้วน)
          ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหัวอ่าว(ก๊วยสมบุญราษฎร์บำรุง)เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๒ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพผู้เรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การบริหารจัดการสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมของทุก ภาคส่วน ร่วมสร้างความเป็นพลเมืองให้นักเรียนสามารถพึ่งตนเอง รับผิดชอบตนเอง รู้จักใช้สิทธิเสรีภาพ ควบคู่กับความรับผิดชอบภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคารพสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น เคารพความแตกต่างเคารพหลักความเสมอภาค เคารพกติกา ไม่แก้ปัญหาด้วยความ รุนแรง ทั้งปลูกฝั่งให้นักเรียนตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อ สร้างความเป็นพลเมืองให้เด็กและเยาวชนต่อไป